วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มูลค่าที่แท้จริง : PE Ratio

มูลค่าที่แท้จริง : PE Ratio 

มนตรี นิพิฐวิทยา 
เครื่องมือในการประเมินมูลค่าของหุ้น แบบง่ายๆ แต่ค่อนข้างใช้ได้ผลทีเดียวเลยนั้นเห็นจะหนีไม่พ้นการประเมินค่า PE และ PB Ratio 

ไม่ว่านักลงทุนทั่วไป นักวิเคราะห์ต่างๆ ก็นิยมใช้ PE Ratio เป็นตัวประเมินค่า เพื่อหาราคาเป้าหมายของหุ้นนั้นๆ จะเห็นได้ว่าค่า PE นั้นได้ถูกใช้กันอย่างกว้างขวาง ยาวนานมาโดยตลอด 

ถ้าเรามาดูว่าอัตราส่วนราคาต่อกำไรคืออัตราส่วนอะไร และมีที่มาที่ใช้อย่างไรก็คงจะยังไม่น่าจะล้าสมัยไปนักนะครับ 

อัตราส่วนราคาต่อกำไร(PE Ratio)ของหุ้นคือ อัตราส่วนของราคาหุ้นที่ซื้อขายในปัจจุบัน กับกำไรต่อหุ้นที่เราต้องการวิเคราะห์ อัตราส่วนนี้จะบอกว่าราคาหุ้นปัจจุบันนั้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นนั้นมีค่าเท่าไร เช่น หุ้นราคา 10 บาท กำไรต่อหุ้น 1 บาท PE = 10 หรือจะแปลความหมายได้ว่า ถ้าเราซื้อหุ้นบริษัทนี้เราจะต้องจ่ายเงินไปล่วงหน้าถึง 10 เท่า หรือต้องรอให้บริษัททำกำไรคืนให้เราสิบเท่า ถ้าหากว่าบริษัทนั้นทำกำไรปีละ 1 บาท ไปเรื่อยๆ เราต้องรอถึงสิบปี หลังจากสิบปีไปแล้วเราถึงจะได้กำไร หรือคืนทุนใน 10 ปีนั่นเอง แต่ถ้าหากว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้รวดเร็วขึ้น เราอาจไม่ต้องรอถึงสิบปีก็ได้ 

ที่นี้ถ้า PE Ratio เท่ากับ 6 เท่า ก็เท่ากับว่าเราจะคืนทุนใน 6 ปีและหลังจากนั้นเราจะได้กำไรแล้ว แต่แล้วเรามองอย่างนี้ก็ไม่เห็นว่ามันจะบอกอะไรเรามาก แต่อัตราส่วนนี้จะบอกเราได้ว่าหุ้นที่เราซื้อนี่ถูกหรือแพง เช่น หุ้นที่มี PE Ratio เท่ากับ 10 จะแพงกว่าหุ้นที่ PE Ratio เท่ากับ 6 ครับ ไม่ใช่แค่ว่ารอนานกว่ากันเท่านั้น แต่หุ้นที่มี PE Ratio ต่ำกว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น หุ้น PE Ratio เท่ากับ 10 จะให้ผลตอบแทนคาดหวังเท่ากับ 10% แต่หุ้นที่มี PE Ratio เท่ากับ 6 จะให้ผลตอบแทน 16.67% ดังนั้นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมหุ้น PE ต่ำจึงถูกกว่าหุ้น PE สูง 

ดังนั้น เวลาเราจะลงทุนซื้อหุ้นเราก็ควรจะชายตาไปมองเจ้า Ratio ด้วยครับ มิเช่นนั้นท่านอาจได้หุ้นที่PE Ratio เท่ากับ 30 เท่า หรือ ให้ผลตอบแทนคาดหวังเพียง 3.33% และมีของแถมเป็นความเสี่ยงที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ 

หุ้นที่มี PE Ratio สูงๆ นั้นจะบอกให้เราทราบได้สองอย่างครับ คือ หุ้นนั้นแพงมากๆ อาจเป็นเพราะนักลงทุนกำลังใจกล้าไล่ซื้อหุ้นนั้นกันอย่างเมามันไปกับข่าวดีของบริษัท หรือกิจการของบริษัทนั้นเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและมีอนาคตที่สดใสมากๆ อย่างแรกนั้นค่อนข้างอันตราย เพราะความไม่แน่นอนของข่าวสูงมาก ในตลาดบ้านเราก็เคยเห็นเมื่อไม่นานมานี้เอง สุดท้ายราคาก็ปรับตัวเข้าหาพื้นฐานที่แท้จริงในที่สุด ส่วนกรณีหลัง เราในฐานะนักลงทุนต้องตรวจสอบผลประกอบการ ตรวจสอบความเป็นไปได้ว่าการเติบโตที่ว่านั้นจริงหรือเทียม 

สำหรับหุ้นที่ PE Ratio ต่ำนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า หุ้นนั้นๆ ถูกทีเดียวเลย ถ้าหุ้นนั้นมีPE Ratioต่ำก็จริง แต่บริษัทไม่มีการเติบโตเลย หุ้นบริษัทนั้นก็ไม่จัดว่าถูก แต่ถ้ามีการเติบโตดีแต่ยังไม่มีใครให้ความสนใจอยู่ละก็ เป็นโอกาสของคุณแล้วครับ บางบริษัท PE Ratio ต่ำแต่ค่า PB Ratio สูงมากอันนี้ต้องระวังเช่นกัน เพราะเราซื้อสินทรัพย์ที่เอามาสร้างผลกำไรในอัตราที่สูงมากเกินไปหรือเปล่า เช่น PB Ratio เท่ากับ 4 เท่า นั่นคือถ้าเราต้องการสร้างธุรกิจนี้เองเราจ่ายแค่ 1 แต่ถ้าต้องการซื้อธุรกิจของบริษัทนี้เราต้องจ่ายเงินสูงถึงสี่เท่า ถ้าเป็นธุรกิจที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขันที่คงทน ไม่ขึ้นลงเป็นรอบๆ ก็น่าสนใจครับ 

เราอาจจะใช้ PE Ratio คู่กับ PB Ratio เพื่อค้นหาหุ้นที่ถูกในเชิงตัวเลขก่อนก็ได้ครับ แต่ที่ขาดไม่ได้เลย เราต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของกิจการให้ลึกซึ้งอยู่ดี เราจะได้เข้าใจถึงอัตราการเติบโตที่แท้จริง เข้าใจว่าในระยะเวลาที่เรากำลังรอให้บริษัททำกำไรจนคืนเงินทุนที่เราลงไปได้นั้น บริษัทจะมีความแข็งแกร่งพอที่จะทำกำไรคืนให้เรา หรือ มีกำไรตอบแทนให้เรามากกว่าที่คาดเอาไว้ 

ที่ขาดเสียไม่ได้จริงๆ คือ เราต้องตรวจสอบงบการเงินของบริษัทด้วยครับ ว่ากำไรที่แสดงนั้นเป็นกำไรแท้หรือกำไรเทียม มีการซ่อนต้นทุนเอาไว้หรือไม่ มีการรับรู้รายได้มากกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ ทั้งหมดนี้ตรวจดูได้จากงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงินครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น