วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เปิดตัว "เสี่ยแตงโม" เซียนหุ้น "หาดใหญ่" จาก "ช่างตัดผม" ผันสู่...นักลงทุน "พันล้าน


เปิดตัว "เสี่ยแตงโม" เซียนหุ้น "หาดใหญ่" จาก "ช่างตัดผม" ผันสู่...นักลงทุน "พันล้าน" 
เส้นทางปั้นดินสู่ดาวของ "สมเกียรติ วงศ์คุณทรัพย์" หรือ "เสี่ยแตงโม" กลายเป็นกรณีศึกษาของนักลงทุนรุ่นใหม่ ที่สร้างตัวจากเงิน "8 หมื่น" แม้เขาจะถ่อมตัวว่าเป็นนักลงทุนระดับ "ร้อยล้าน" แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าเคยซื้อขายหุ้นวันเดียวเกิน "พันล้าน"

-------------------------------

"ผมถือคติว่า...น้ำกำลังเชี่ยว อย่าเอาเรือไปขวาง จำไว้เวลาหุ้นขาลง แม้ขายขาดทุนก็ต้องขาย ต้องยอมเสีย Civic ไปหนึ่งคัน...ไม่งั้น Mercedes-Benz คุณหาย!!" 
------------------------------

ถ้าโชคชะตาไม่เล่นตลก ชีวิตเด็กหนุ่ม "ช่างตัดผม" จากอำเภอหาดใหญ่ คงไม่ผันตัวสู่ชีวิต "เซียนหุ้นพันล้าน" ที่คนในวงการร่ำลือกันว่า มีลีลาเข้า-ออก "หนักหน่วง" และ "โหด" เอามากๆ

สปอตไลท์ทุกดวงส่องตรงมาที่ชายผู้นี้ "สมเกียรติ วงศ์คุณทรัพย์" หรือ "เสี่ยแตงโม" ทั้งในมุมของ "ผู้ร้าย" และ "ขาใหญ่แห่งทะเลใต้"

เขาเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะลูกค้าของ "บล.หยวนต้า" ในยุคที่ "สมโภชน์ อาหุนัย" เป็นกรรมการผู้จัดการ ไปกวาดต้อนคนเก่งๆ มาไว้ในอาณาจักร

ไม่ว่า "สมเกียรติ" จะอยู่ในมุมแดง หรือมุมน้ำเงิน แต่ประสบการณ์ของเขา ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่กาลเวลาจะกลืนหาย เหลือไว้เพียง "ตำนาน" ที่รอวันดับสูญ

นั่นคือเหตุผลที่ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ต้องนำเรื่องราวของเขา มาเล่าสู่กันฟัง

"ผมตามเพื่อนเข้าตลาดหุ้น เมื่อปี 2533 ผมเข้าไปได้ 2 สัปดาห์ ซัดดัมก็บุกคูเวต (2 สิงหาคม 2533) ตอนนั้นเพื่อนซื้ออะไร ผมก็ตาม จำได้แม่นว่าซื้อหุ้นตัวแรก บมจ.ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ (TGCI) ตอนนั้นราคา 141 บาท

...แล้วอีกตัว คือ บงล.นวธนกิจ (NAVA) ราคาก็ประมาณเดียวกัน พอซื้อปุ๊บราคาก็ขึ้นไป 2 บาท...ก็ขาย ผมซื้อ 141 บาท ขาย 143 บาท หักค่าคอมฯ ยังเหลือนิดหน่อย"

เซียนหุ้นลูกน้ำเค็ม เล่าต่อว่า หลังจากซื้อหุ้นไปได้ 2 สัปดาห์ ซัดดัมก็มา "มันสุดยอด" สมัยนั้นยังใช้วิธีเคาะกระดาน ตื่นเช้าขึ้นมาผมก็เห็น "กากบาท" อยู่ทางซ้ายมือ ราคาอยู่ทางขวามือ ก็แปลว่า "ตกฟลอร์" มีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ

"หุ้นตกฟลอร์ทุกวัน ขายยังไงก็ขายไม่ได้ จำได้แม่นว่าผมขายที่ราคา 75.50 บาท ทั้ง 2 ตัว (TGCI และ NAVA) เงินหายไปครึ่งหนึ่ง"

แต่ที่โชคชะตาเล่นตลก ก็เพราะว่า ราคาที่ขายได้ 75.50 บาทนั้น เป็นราคาเกือบๆ จะ "ต่ำสุด" ที่มันโคตรจะเจ็บใจ ลงฟลอร์แล้วมันก็ขึ้นไปซิลลิ่ง ภายในวันนั้นเลย

"ผมก็ตามไปซื้ออีกทีที่ราคาซิลลิ่งก็ซื้อไม่ได้ ขึ้นไป 3-4 ซิลลิ่ง ก็ไปซื้อได้ที่ราคาสุดยอด (ดอย) พอซื้อได้ อีกวันมันก็ฟลอร์ต่อ ผมมีทุนไปเล่น 8 หมื่น เล่นจนเหลือ 3 หมื่น"

ย้อนประวัติของเสี่ยอดีตนักบิด เขาเรียนจบบัญชี (ปี 5) ที่โรงเรียนอำนวยวิทย์บริหารธุรกิจที่อำเภอหาดใหญ่ จากนั้นก็ทำอาชีพแรกเป็น "ช่างตัดผม" ทำได้ประมาณ 2 ปี ก็ทิ้งหวี กับกรรไกรย้อมตัวเข้าสู่ตลาดหุ้น ด้วยเพราะเพื่อนขับรถยนต์ไปยั่วน้ำลาย

เซียนหุ้นวัย 41 ปี รายนี้ ปะติดปะต่อภาพให้ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า การสร้างตัวเป็น "พันล้าน" นั้น มีจุดเปลี่ยนเมื่อปี 2536 หรือ 4 ปีให้หลัง

"จากเงิน 8 หมื่น เหลือ 3 หมื่น ใช้เวลาเรียนรู้ 4 ปี (2533-2536) ตอนนั้นเริ่มมีวิชาแล้ว ผมไปบอกคุณแม่ว่าผมมีความรู้เรื่องหุ้นแล้วนะ ขอยืมเงินมาลงทุนเพิ่มอีก 5 หมื่น ต้องยอมรับว่าเงิน 8 หมื่นแรก สร้างความรู้ให้เรามาก

...พอปี 2536 เริ่มมีวิชา ถามว่ามีวิชาได้อย่าไร เล่นหุ้นขาดทุนจนเพื่อนบอกว่าถ้ามึงเล่นหุ้นอย่างนี้กลับไปตัดผมเหอะ เล่นอย่างมึงน่ะ "เจ๊ง" คำพูดของเพื่อนมันเจ็บมาก ด้วยความโกรธ ผมให้ปฏิญาณกับตัวเองว่าให้มันรู้ไปซิว่า กูจะประสบความสำเร็จกับหุ้นไม่ได้"

ช่วงปี 2536 เขาค่อนข้างโชคดี พอเริ่มเก่งก็มีนักลงทุนรุ่นพี่ที่มีเงิน ชักชวนให้ไปบริหารพอร์ตให้ ตกลงกันว่ามีกำไรแล้วแบ่งกัน นั่นคือ จุดเริ่มต้น

ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม 2536 (ช่วงดัชนี 980-1,150 จุด) สมเกียรติ เล่าว่าประสบความสำเร็จตอนนั้น ก่อนที่ดัชนีจะวิ่งขึ้นไป 1,700 จุด ในอีก 2 เดือนถัดมา

"ช่วงก่อนเดือนกันยายน 2536 ผมมีเงิน 6 แสน เดือนกันยายนเดือนเดียวได้กำไรมา "ล้านกว่า" เดือนตุลาคม ได้มาอีก "ล้านกว่า" พอเดือนพฤศจิกายน ช็อกไปเลยครับได้กำไรมา "8 ล้าน" สำหรับผมตอนนั้น คือ รวยแล้ว (จากเงิน 8 หมื่น เพิ่มเป็นสิบกว่าล้านบาท)

ช่วงนั้นเทรดทุกวันเล่นหลายตัวจนจำไม่ได้ว่าเล่นตัวไหนบ้าง คือ เล่นเก็งกำไรอย่างเดียว ซื้อวันนี้ขายพรุ่งนี้ กำไรทุกวัน"

สมเกียรติ เรียนรู้ว่า เล่นหุ้นให้ได้กำไรชัวร์ๆ ต้องซื้อที่ "New High" เพราะ "ของดีต้องแพงที่สุด"

เพราะเคยซื้อหุ้นก่อนแนวโน้ม หลังจากคาดว่ามันจะต้องผ่าน New High แน่ๆ แต่ปรากฏว่ามันไม่จริง...

"อย่างวิธีการซื้อ ผมจะซื้อสูตร 5-3-2 จะซื้อ 3 ครั้ง ซื้อครั้งแรก 50% ถ้ามันขึ้นซื้ออีก 30% ถ้าขึ้นอีกซื้ออีก 20% แต่ถ้าซื้อแล้วมันลงจะหยุดซื้อทันที แล้วผมจะรอดู ถ้าซื้อไปแล้วมันไม่ขึ้นต่อ ซึ่งการซื้อแต่ละครั้งจะมากพอสมควร (เป็นร้อยๆ ล้านบาท)

ถ้าซื้อแล้วมีคนขายแล้วออเดอร์ของผมไม่สามารถทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปได้ แสดงว่าผมเจอ (ตอ) ผู้ที่อยากขายใหญ่กว่าเรา ผมจะถอยทันที ขายทิ้งทุกราคา

...แต่ถ้าซื้อแล้วขึ้น ผมจะลงทุนต่อ (Let the Profit Run) ถ้าซื้อแล้วลง..ผมเลิก"

เสี่ยแตงโม อธิบายกฎการลงทุนส่วนตัวว่า ถ้าขาดทุน 5% ก็จะ Cut Loss ทันที แต่ถ้าเล่นหุ้นขาขึ้นจะไม่มีลิมิตกำไร เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าหุ้นจะขึ้นไปได้เท่าไร ช่วงที่ขาย คือ ช่วงที่หุ้นปรับตัว หรือ เริ่มอ่อนตัว

"ถ้าเห็นสัญญาณว่าราคาเริ่มอ่อนตัว ผมจะ Take Profit ทันที คือ ขายเกลี้ยงพอร์ต ผมจะกล้าถือหุ้นตัวที่กำไร และขายตัวที่ขาดทุน...กรอบนี้ผมให้ลงแค่ 5% แม้ใครจะบอกว่าหุ้นตัวนั้นดีมาก ระยะกลางดี แต่ทำไมมันลงล่ะครับ...ถ้าดีจริงมันต้องไม่ลง"

เหมือนกันถ้าอ่านว่าตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ "ขาลง" ก็ต้องไม่ซื้อ (เลิกเล่นชั่วคราว) รอให้หุ้นตกจนนอนก้น เมื่อไรที่เริ่มหักหัวขึ้น ถึงจะเริ่มเข้ามาเล่นรอบใหม่

สูตรง่ายๆ ขาขึ้นให้เพิ่มพอร์ต...ขาลงให้ลดพอร์ต

"ผมถือคติว่า...น้ำกำลังเชี่ยว อย่าเอาเรือไปขวาง จำไว้เวลาหุ้นขาลง แม้ขายขาดทุนก็ต้องขาย ต้องยอมเสีย Civic ไปหนึ่งคัน...ไม่งั้น Mercedes-Benz คุณหาย!!"

เซียนหุ้นหาดใหญ่ บอกว่า จะลงทุนเยอะในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็น "ขาขึ้น" เท่านั้น จะเล่นเต็มพอร์ตเลย แล้วจะเล่นเครดิตบาลานซ์ด้วย จะเล่นแบบ "ดับเบิ้ล" เพราะช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังดี เราต้องเสริม 2 แรงบวก พอร์ตถึงจะโตเร็ว

จุดมั่นใจจะเช็คจากการเมืองเป็นหลัก ถ้าการเมืองไม่ค่อยดี (อย่างตอนนี้) ก็จะถอย ตลาดหุ้นจะบอกให้เรารู้ล่วงหน้าว่า สถานการณ์การเมืองตอนนี้เป็นยังไง

"ถ้าทิศทางไม่ดี ผมก็จะไม่เพิ่มพอร์ต จะเล่นน้อยๆ แบบฉาบฉวย จริงๆคือผมล้างพอร์ต หมดตั้งแต่มีการปฏิวัติ (19 กันยายน 2549) แล้ว การขาดทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องธรรมดามาก"

ถึงวันนี้หลังจากพอร์ตใหญ่ขึ้น และผ่านประสบการณ์กับหุ้นเก็งกำไรมาเป็นเวลานับสิบปี สมเกียรติ ได้แง่คิดว่า ชีวิตที่อยู่บนเส้นด้ายมาตลอด 14 ปี มันไม่คุ้มที่จะเสี่ยงอีก ผิดกับคนที่เล่นหุ้นพื้นฐาน เขาใช้ชีวิตอยู่บนลวดสลิงเส้นใหญ่ ที่ปลอดภัยกว่ามาก

"หุ้นตัวใหญ่ผมสั่งซื้อสั่งขายหมดภายใน 1-2 ช่อง ถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไรต้องขายหลายช่องกว่าจะหมด เพราะไม่มีใครกล้าซื้อหุ้นของผม เคยเข้าใจลักษณะเวลาที่ซื้อเสร็จแล้วราคามันรูดมั้ย คือ ไม่มี Bid (ฝั่งซื้อ) เลย ภาษาหุ้นเขาจะเรียกว่า "ฟันหลอ" หุ้นฟันหลอ คือ หุ้นที่เจ็บตัว"

เซียนหุ้นหาดใหญ่ตัดพ้อว่า ที่ผ่านมามักถูกตลาดหลักทรัพย์มองในแง่ที่ไม่ดีมาตลอด ว่าเป็นตัวการ "ทุบหุ้น"

"เหตุผลเดียวที่ขายหนัก ต้องการให้มัน "โฟลท์" ขาดทุนเท่าไรผมไม่สน ต้องออกของให้หมด ตรงนี้แหละที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่า ผม "ทุบหุ้น" จริงๆ แล้วอยากจะบอกว่า นี่คือ การหนีตาย ทำเพื่อความอยู่รอด ไม่ได้ต้องการทำร้ายใคร"

เมื่อรวยแล้ว สมเกียรติ เริ่มถอยห่างจากหุ้นเก็งกำไร เขาหันมาเล่นหุ้นตัวใหญ่เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคา หุ้นกลุ่ม "พลังงาน" เป็นหุ้นที่ทำให้เขามีกำไรมากที่สุด โดยเฉพาะ "ไทยออยล์" กับ "ปตท."

นอกจากนี้เซียนหุ้นอดีตช่างตัดผม ยังค่อยๆ ผันเงินกำไรนำไปสะสมที่ดินในอำเภอหาดใหญ่บ้านเกิด รวมทั้งลงทุนก่อสร้างอพาร์ตเมนต์ เป็นรายได้ระยะยาว ระยะหลังก็เริ่มสนใจไปสะสมที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ และมีโครงการสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ บนถนนนิมมานเหมินท์ ใกล้บริเวณโรงแรม อมารี รินคำ

อีก 3 ปี นับจากนี้ เขาจะกลายเป็น "เสี่ย" เจ้าของโรงแรม มูลค่า "หลายร้อยล้านบาท" สร้างอาณาจักรใหม่ ที่มั่นคงและปลอดภัย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น